การอบรมการใช้งานระบบและการดูแลเว็บไซต์จริยธรรมการวิจัย (RI)
พฤษภาคม 23, 2024การอบรมการใช้งานระบบและการดูแลเว็บไซต์จริยธรรมการวิจัย (RI)
พฤษภาคม 23, 2024ประชุมเสวนา 14 กค. 66
วช. ร่วมกับ สวทช. และเครือข่ายมหาวิทยาลัย
จัดประชุมเสวนาเครือข่ายพันรมิตรการกิจ Research Integrity
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุมดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดประชุมเสวนา เรื่อง “เครือข่ายพันธมิตรภารกิจ Research Integrity” เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานด้านจริยธรรมการวิจัยในหน่วยงานของแต่ละสถาบัน ร่วมกับวางกลไกการป้องกันการประพฤติมิชอบทางการวิจัยของประชาคมวิจัยให้กับประเทศ และทิศทางการดำเนินงานร่วมกันในอนาคต รวมถึง แบ่งปันความรู้ ทรัพยากรต่าง ๆ อย่างทั่วถึง ตลอดจนสร้างวัฒนธรรมในการทำวิจัยที่ดี โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงานและบรรยาย เรื่อง “บทบาทของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติกับการพัฒนาเครือข่ายพันธมิตร TH RIN: Thailand Research Integrity Network” และมี ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวต้อนรับ โดยภายในงานมี อธิการบดี ผู้บริหาร ผู้แทนจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าร่วมงาน เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ณ ห้องแมจิก ๓ ชั้น ๒ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า “วช. ในฐานะหน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มีพันธกิจตามพระราชบัญญัติบริหารราชการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ๒๕๖๒ ในการจัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย มุ่งที่จะสร้างความเข้มแข็งด้านมาตรฐานการวิจัยและนวัตกรรมให้กับประเทศ มีกลไกที่สนับสนุนการดำเนินงานด้านมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย ได้แก่ จัดทำคู่มือ “จรรยาวิชาชีพวิจัยและแนวทางปฏิบัติ” และ “คู่มือมาตรฐานการเผยแพร่ผลงานวิจัยและผลงานทาง วิชาการ” เผยแพร่บนเว็บไซต์สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จัดฝึกอบรมจรรยาบรรณวิชาชีพวิจัยให้แก่นักวิจัย สถาบันวิจัย และผู้สนใจทั่วไป จัดทำหลักสูตรเรียนรู้ออนไลน์ เรื่อง มาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย และอยู่ระหว่างพัฒนาเครือข่ายและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยด้านจริยธรรมการวิจัย ซึ่งการจัดการประชุมในครั้งนี้ จะช่วยสร้างความตระหนักและเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานของหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้านจริยธรรมการวิจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การร่วมวิเคราะห์ วางแผน ปรับปรุงกลยุทธ์การดำเนินงาน และพัฒนาการกำกับดูแลด้านจริยธรรมการวิจัยของประชาคมวิจัยให้กับประเทศต่อไป ตลอดจนขยายเครือข่ายความร่วมมือด้าน จริยธรรมการวิจัยในระดับประเทศและระดับนานาชาติ”
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า “จริยธรรมการวิจัย หรือ Research Integrity เป็นเรื่องที่สถาบันการศึกษา สถาบันการวิจัย และองค์กรที่ดำเนินงานเกี่ยวข้องกับงานวิจัยทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญ เนื่องจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักเรื่องจริยธรรมการวิจัยนำไปสู่การประพฤติมิชอบทางการวิจัย ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อวงการวิชาการเป็นอย่างมาก อีกทั้งในปัจจุบันมีการพบปัญหาการกระทำผิดจริยธรรมการวิจัยในรูปแบบใหม่ ๆ ที่นักวิจัยสามารถทำได้ง่ายมากขึ้น เช่น การซื้อขายชื่อผู้นิพนธ์ หรือการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ มาช่วยในกระบวนการทำวิจัยในลักษณะที่ไม่ถูกต้องตามหลักจริยธรรมการวิจัย เป็นต้น”
ภายในงาน ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริม และสนับสนุนจริยธรรมการวิจัยของประเทศ ได้นำเสนอ (ร่าง) หลักจริยธรรมการวิจัยและการนำไปใช้ในประเทศไทย โดยได้เชิญผู้บริหาร ผู้แทนเครือข่ายพันธมิตรภารกิจ Research Integrity Network จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยทั่วประเทศ ตลอดจนนักวิจัย และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารโครงการวิจัย ร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะผ่านระบบออนไลน์ ต่อ (ร่าง) หลักการจริยธรรมการวิจัย การนำมาใช้ในประเทศไทย (Principles of research ethics: application to Thailand) เพื่อนำความคิดเห็นและประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องมาใช้ประกอบการพิจารณารับรอง (ร่าง) หลักการจริยธรรมการวิจัยฯ ในการประชุม “เครือข่ายพันธมิตร ภารกิจ Research Integrity” ต่อไป