การประพฤติผิดจริยธรรมการวิจัย
- การสร้างทฤษฎี เรื่องราว และ/หรือข้อมูลเท็จ (fabrication) หมายถึง การสร้างทฤษฎี เรื่องราว ข้อมูล ผลการวิจัย การบันทึก และรายงานข้อมูลการวิจัย หรือผลการวิจัย ซึ่งเป็นการแต่งขึ้นมาเอง โดยไม่มีการวิจัยจริง
- การปลอมแปลงหรือบิดเบือนข้อมูล (falsification) หมายถึง การปกปิดบิดเบือนข้อมูลหรือผลงานวิจัย เพื่อให้ตรงตามสมมติฐานหรือผลการศึกษาที่นักวิจัยต้องการ ซึ่งจะนำไปสู่ข้อสรุปที่ไม่ถูกต้องและผิดไปจากความเป็นจริง โดยเป็นการตัดทอน เพิ่มเติม ดัดแปลง แก้ไขข้อมูลการวิจัย หรือการดำเนินการใด ๆ ในกระบวนการวิจัยและการรายงานผลการศึกษาที่ไม่สอดคล้องกับผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้นจริง
- การลักลอกข้อมูล (plagiarism) หมายถึง การนำผลงานวิจัย คำพูด ความคิด หรือสิ่งต่าง ๆ ของผู้อื่น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนใช้เสมือนเป็นของตนเอง หรือทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดว่าเป็นของตนเอง
- การลักลอกข้อมูลของตนเอง (self-plagiarism) หมายถึง การนำข้อมูลการวิจัยหรือผลงานวิจัยที่เหมือนเดิมหรือเกือบเหมือนเดิมของตนเองกลับมาใช้ซ้ำ โดยไม่มีการอ้างอิงถึงผลงานวิจัยเดิมของตนเอง และตั้งใจทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดคิดว่าเป็นผลงานชิ้นใหม่
การประพฤติผิดจริยธรรมการวิจัยในลักษณะอื่น ๆ
การประพฤติผิดจริยธรรมการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำวิจัย เช่น
- การไม่ปฏิบัติตามหลักการจริยธรรมที่เป็นที่ยอมรับในการทำวิจัย
- การออกแบบการวิจัยที่ไม่เหมาะสม หรือการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอน การดำเนินงานที่เป็นที่ยอมรับ หรือไม่ระมัดระวังและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงและอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นต่อมนุษย์ สัตว์ หรือสิ่งแวดล้อม
- การขาดการจัดการหรือการเก็บรักษาข้อมูลที่ดี หรือการนำข้อมูลไปใช้ผิดวัตถุประสงค์
- การละเมิดลิขสิทธิ์ หรือการนำข้อมูลของผู้อื่นมาใช้ประโยชน์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล
การประพฤติผิดจริยธรรมการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเขียนผลงานวิจัยและการตีพิมพ์ผลงานวิจัย เช่น
- การมีชื่อในผลงานวิชาการที่ไม่เป็นความจริง
- การเพิ่มจำนวนการตีพิมพ์บทความวิชาการ โดยการแบ่งผลงานวิจัยที่ เป็นเรื่องเดียวกันออกเป็นหลายส่วนและส่งไปตีพิมพ์ยังวารสารต่าง ๆ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร (salami publication)
- การส่งบทความวิชาการฉบับเดียวกันเพื่อขอรับการพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารมากกว่าหนึ่งวารสาร (simultaneous submission)
- การว่าจ้างเขียนผลงานวิจัย และเขียนวิทยานิพนธ์ (ghost authorship หรือ anonymous authorship)
การประพฤติผิดจริยธรรมการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาตรวจสอบผลงานวิจัย (peer review)
- การไม่เปิดเผยหรือดำเนินการกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่เกิดขึ้น
- การใช้ผู้ประเมินบทความปลอม (fake reviewers) เพื่อหลีกเลี่ยงขั้นตอนการพิจารณาตรวจสอบผลงานวิจัย ซึ่งจะนำไปสู่การตีพิมพ์บทความที่ไม่มีคุณภาพ
การประพฤติผิดจริยธรรมการวิจัยอื่น ๆ เช่น
- การแสดงข้อมูลความเชี่ยวชาญ คุณสมบัติ และประสบการณ์ของนักวิจัยที่ไม่เป็นความจริง
- การใช้ความอาวุโสในทางที่ผิด
- การเพิกเฉยต่อการประพฤติผิดจริยธรรมการวิจัยที่เกิดขึ้น
- การกลั่นแกล้งที่ทำให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง โดยใช้ข้อกล่าวหาเรื่องการประพฤติผิดจริยธรรมการวิจัยเป็นเครื่องมือ
- การว่าจ้างเขียนผลงานวิจัย และเขียนวิทยานิพนธ์ (ghost authorship หรือ anonymous authorship)
ข้อมูล : หนังสือบทเรียนและกรณีศึกษาด้านจริยธรรมการวิจัย
โดย คณะผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมการวิจัยของประเทศ
(Thailand Research Integrity Network: TH-RIN)
และฝ่ายพัฒนาคุณภาพและจริยธรรมการวิจัย (QRI)
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://ri.nrct.go.th/pdf/lessonsandcase_ri.pdf