ที่มา
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำมาตรฐานและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัยในด้านต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรมนำมาตรฐานการวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัยที่กำหนดขึ้นไปใช้ ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 ซึ่งที่ผ่านมา วช. ได้จัดอบรมด้านจริยธรรมการวิจัยให้นักวิจัย และผู้ที่เกี่ยวข้องได้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยและสามารถนำข้อกำหนดและนวทางปฏิบัติไปใช้ได้อย่างถูกต้อง ในขณะที่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ได้ดำเนินการพัฒนาเครือข่ายพันธมิตร ภารกิจ Research Integrity โดยมีเครือข่ายทั่วประเทศ ทั้งนี้ ภายหลังการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สวทช. ไม่ได้มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำจริยธรรมการวิจัยในระดับประเทศ สวทช. จึงได้ส่งต่อเครือข่ายดังกล่าวให้ วช. ต่อไป
วช. เล็งเห็นว่า การพัฒนาเครือข่ายพันธมิตรด้านจริยธรรมการวิจัยเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภาพรวม จึงดำเนินการพัฒนางานด้านจริยธรรมการวิจัยที่สอดรับกับระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่าด้วยจริยธรรมการวิจัยทั่วไป พ.ศ. 2565 ซึ่งเกี่ยวข้องกับมาตรฐานการวิจัยและจริยธรรมการวิจัย ประกอบด้วย การกำหนดทิศทางการดำเนินงานด้านคุณธรรมและจริยธรรมการวิจัย การจัดทำนโยบายและกลไกการขับเคลื่อนจริยธรรมการวิจัยของประเทศ รวมถึงการมีส่วนร่วมในการวางกลไกการป้องกันการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามหลักจริยธรรมอันดีงามของนักวิจัย โดยการส่งเสริม/สนับสนุนสถาบันวิจัยให้มีหน่วยงานจริยธรรมการวิจัย (Office of Research Integrity: ORI) พร้อมกับการสร้างเครือข่ายพันธมิตรจริยธรรมการวิจัย ตลอดจนการสร้างวัฒนธรรมที่ดีงามในการทำวิจัยของประเทศด้วยการสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการยกระดับผลงานวิจัยและพัฒนาให้เกิดเป็นมาตรฐานของประเทศที่มีการยอมรับร่วมกัน
วัตถุประสงค์
- 1. เพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนามาตรฐานการวิจัยและจริยธรรมการวิจัยของประเทศอย่างเป็นระบบ
- 2. เพื่อใช้เป็นกลไกในการขับเคลื่อน ส่งเสริม และผลักดันให้นักวิจัยนำมาตรฐานการวิจัยและจริยธรรมการวิจัยของประเทศไปสู่การปฏิบัติ ทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างเป็นรูปธรรม เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
- 3. เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐานการวิจัยและจริยธรรมการวิจัยของประเทศไปสู่มาตรฐานสากล
- 4. เพื่อเชื่อมโยงการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับด้านมาตรฐานวิจัยและจริยธรรมการวิจัยของประเทศทุกภาคส่วน
เป้าหมาย
- 1. ประเทศไทยมีมาตรฐานการวิจัยและจริยธรรมการวิจัยที่เป็นปัจจุบัน ครอบคลุมทุกด้าน เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและระดับสากล สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาประเทศและนโยบายรัฐบาล
- 2. มาตรฐานการวิจัยและจริยธรรมการวิจัยเป็นกลไกในการขับเคลื่อนและผลักดัน การดำเนินการด้านมาตรฐานการวิจัยและจริยธรรมการวิจัยไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
- 3. มาตรฐานการวิจัยและจริยธรรมการวิจัยมีการพัฒนาที่เป็นเอกภาพ ซึ่งเป็นไป ในทิศทางเดียวกัน และเกิดการเชื่อมโยงหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม
- 3. ก่อให้เกิดการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ และ การพัฒนาประเทศให้อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล เป็นธรรม แข่งขันและต่อรองกับประชาคมโลกได้
- 4. นักวิจัย และหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม นำมาตรฐานการวิจัยและจริยธรรม การวิจัยไปปฏิบัติในหน่วยงานอย่างจริงจัง ถูกต้อง และเหมาะสม