ประชุมคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย ครั้งที่ 4/2567
กรกฎาคม 23, 2024ประชุมคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย ครั้งที่ 4/2567
กรกฎาคม 23, 2024การบรรยายพิเศษ เรื่อง “แนวทางการพัฒนานักวิจัยของประเทศ : ด้านจริยธรรมการวิจัย” ในงาน "มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024)"
วันพุธที่ 28 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00-12.00 น.
ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ
ในปัจจุบันที่มีความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้นักวิจัยได้รับความกดดันและรีบสร้างผลงานวิจัย โดยไม่ได้คำนึงถึงความถูกต้อง และนำไปสู่การเกิดปัญหาด้านจริยธรรมการวิจัยของประเทศ ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิจัยมีการทำผิดจริยธรรมการวิจัยหรือการประพฤติมิชอบทางการวิจัย (Research misconduct) เกิดขึ้นหลากหลายรูปแบบประกอบด้วย การสร้างข้อมูลเท็จ (Fabrication) การปลอมแปลงข้อมูล (Falsification) การคัดลอกผลงาน (Plagiarism) และ การละเมิดลิขสิทธิ์ (Infringement) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติ รวมถึงความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อหน่วยงาน สถาบัน หรือองค์กร ดังนั้น นักวิจัยทุกคนจึงควรตระหนักถึง Responsible Conduct of Research ให้มากขึ้น ซึ่งสามารถตรวจสอบการคัดลอกผลงานวิจัยหรือวรรณกรรมทางวิชาการได้ด้วยโปรแกรมอักขราวิสุทธิ์ และ Turnitin
ด้วยอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 13 ว่าด้วยการจัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย ตามพ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 และมาตรา 33 (1) ว่าด้วยจริยธรรมการวิจัยทั่วไปตาม พ.ร.บ. การส่งเสริมวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2562 ได้มีระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ว่าด้วยจริยธรรมการวิจัย พ.ศ. 2565 ให้นักวิจัย ถือปฏิบัติ และกำหนดให้มีคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยกำกับดูแล ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามจริยธรรมการวิจัยทั่วไปและมาตรฐานการวิจัย
ทั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในฐานะผู้ดูแลและกำกับงานจริยธรรมการวิจัยของประเทศ โดยกองมาตรฐานการวิจัยและสถาบันพัฒนาการดำเนินการต่อสัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนา ส่งเสริม และกำกับรับรองมาตรฐานคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ได้พัฒนากลไกส่งเสริมจริยธรรมการวิจัย และระบบการกำกับดูแลจริยธรรมการวิจัยของประเทศ โดยในวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ได้รับเกียรติจาก ดร.อัณณ์ณิชา โตกิจกล้าธวัฒน์ ผู้อำนวยการกองมาตรฐานการวิจัยฯ บรรยายในหัวข้อ “แนวทางการพัฒนานักวิจัยของประเทศ : ด้านจริยธรรมการวิจัย” ซึ่งการบรรยายดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจด้านจริยธรรมการวิจัย รวมทั้งส่งเสริม ผลักดันให้หน่วยงานต่าง ๆ จัดตั้งหน่วยงานส่งเสริมจริยธรรมการวิจัย (ORI) ภายในสถาบัน ร่วมสร้างเครือข่ายพันธมิตรจริยธรรมการวิจัย (TH-RIN) พัฒนาเอกสาร/คู่มือประกอบการดำเนินงานด้านจริยธรรมการวิจัย พัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ด้านจริยธรรมการวิจัย พัฒนาเว็บไซต์จริยธรรมการวิจัย และจัดอบรมพัฒนาบุคลากรด้านจริยธรรมการวิจัยด้วยการให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัยในรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) สำหรับนักวิจัยที่ขอรับการจัดสรรทุนวิจัยจากหน่วยงานให้ทุนวิจัย (PMU) ต้องดำเนินการระบุความสอดคล้องในการดำเนินงานตามมาตรฐานการวิจัยผ่านระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (NRIIS) ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2566 โดยสามารถแนบใบประกาศนียบัตรผ่านการอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรมการวิจัย จาก วช. หรือหน่วยงานที่มีการเปิดอบรมหลักสูตรด้านจริยธรรมการวิจัย และหลักสูตรเรียนรู้ออนไลน์ผ่านระบบ e – learning